วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

โวหารรสแห่งวรรณคดีไทย

รสแห่งวรรณคดีไทย  มี 4 รส  ได้แก่
1) เสาวรจนีย์  (เสาว ว. ดี, งาม. + รจนี ก. ตกแต่ง, ประพันธ์; ว. งาม)  เป็นการชมความงาม  ชมโฉม  พร่ำพรรณนา 
อาจจะเป็นการชมความเก่งกล้าของกษัตริย์  ความงามของปราสาทราชวัง หรือความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองก็ได้
เช่น  บทชมโฉมนางมัทมา  โดยท้าวชัยเสนรำพันไว้ ในวรรคดีเรื่อง มัทนะพาธา
     เสียงเจ้าสิเพรากว่า    ดุริยางคะดีดใน
ฟากฟ้าสุราลัย                สุรศัพทะเริงรมย์
ยามเดินบนเขินขัด          กละนัจจะน่าชม
กรายกรก็เร้ารม              ยะประหนึ่งระบำสรวย
ยามนั่งก็นั่งเรียบ             และระเบียบเขินขวย
แขนอ่อนฤเปรียบด้วย     ธนุก่งกระชับไว้
พิศโฉมและฟังเสียง       ละก็เพียงจะขาดใจ ...
                                           (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

                      มืดสิ้นแสงเทียนประทีปส่อง     ก็ผ่องแสงจันทร์กระจ่างสว่างส่ง
              บุปผชาติสาดเกสรขจรลง                 บุษบงเบิกแบ่งระบัดบาน
                     เรณูนวลหวนหอมมารวยริน      พระพายพัดประทิ่นกลิ่นหวาน
               เฉื่อยฉิวปลิวรสสุมามาลย์              ประสานสอดกอดหลับระงับไป

                                                                          (ขุนช้างขุนแผน)
2) นารีปราโมทย์ (นารี น. หญิง + ปราโมทย์ น. ความบันเทิงใจ, ความปลื้มใจ, ปราโมช ก็ว่า) คือ การทำให้ "นารี" นั้น    ปลื้ม "ปราโมทย์"   เป็นการกล่าวข้อความแสดงความรัก  ผ่านการเกี้ยวแลโอ้โลมปฏิโลม.   
เช่น       
              ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้นเกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร                  ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
     แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ    พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา                เชยผกาโกสุมปทุมทอง
        เจ้าเป็นถ้ำไพขอให้พี่                  เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่ครอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง     เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
                                                          (พระอภัยมณี - สุนทรภู่)
3) พิโรธวาทัง (พิโรธ ก. โกรธเกรี้ยว ไม่สบอารามณ์ + วาทัง น. วาทะ คำพูด) คือ พิโรธวาทัง            การแสดงความโกธรแค้นผ่านการใช้คำตัดพ้อต่อว่าให้สาใจ ทั้งยังสำแดงความน้อยเนื้อต่ำใจ, ความผิดหวัง, ความแค้นคับอับจิต
   บทตัดพ้อที่แสดงทั้งอารมณ์รักและแค้น  จาก อังคาร กัลยาณพงศ์ จากบทกวี เสียเจ้า
จะเจ็บจำไปถึงปรโลก                  ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย                 อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ
                                                           (อังคาร กัลยาณพงศ์)
 บทตัดพ้อที่แทรกอารมณ์ขัน  จาก บทกวี ปากกับใจ
เมื่อรักกันไม่ได้ก็ไม่รัก                 ไม่เห็นจักเกรงการสถานไหน
ไม่รักเราเราจักไม่รักใคร               เอ๊ะน้ำตาเราไหลทำไมฤๅ
                                                              (สุจิตต์ วงษ์เทศ)
 

4) สัลลาปังคพิไสย (สัลล น. ความโศกโศกาเศร้าร่ำน้ำตานอง, การครวญคร่ำ รำพันรำพึง / สัลลาป น. การพูดจากัน + องค์ น. บท, ชิ้น อัน, ตัว + พิไสย น. ความสามารถ  แผลงมาจาก วิสัย   คือ การโอดคร่ำครวญ หรือบทโศกอันว่าด้วยการจากพรากสิ่งอันเป็นที่รัก. มีใช้ให้เกลื่อนกร่นไปในบรรดานิราศ
เช่น  เรื่อง ขุนช้างขุนแผน  ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี
    ลำดวนเอยจะด่วนไปก่อนแล้ว     ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี
จะโรยร้างห่างกลิ่นมาลี                   จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ
                                                       (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
                          ยังลูกอ่อนก็จะอ้อนแต่อาหาร       น่ารำคาญคิดมาน้ำตาไหล
          ทั้งผัวเมียแสนอนาถเพียงขาดใจ      สุดอาลัยแล้วก็กอดกันโศกา         

                                                                  (ขุนช้างขุนแผน)


  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น