วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประวัติสุนทรภู่

สุนทรภู่  เกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ บิดาเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง บิดามารดาเลิกร้างกันตั้งแต่สุนทรภู่เกิด บิดาออกไปบวชที่ วัดป่า ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง ส่วนมารดากลับเข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ได้ถวายตัวเป็นนางนมของพระธิดาในกรมฯ นั้น
สุนทรภู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กใน พระราชวังหลัง และได้อาศัยอยู่กับมารดา สุนทรภู่ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) สุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น และได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานไว้ เมื่ออายุราว ๒๐ ปี
สมัยรัชกาลที่ ๒ (ยุคทอง) สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนได้รับแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๓๖๔ สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดจนติดคุก แต่ติดคุกอยู่ไม่นานก็พ้นโทษ
สมัยรัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องเสพสุรา และเจ้าชู้ จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร จึงออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ และได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่จึงลาสิกขาบท และได้อยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ รวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย
สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ปี พ.ศ. ๒๓๙๔ และรับราชการต่อมาได้ ๔ ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. ๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๗๐ ปี
       องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ทางราชการจึงได้กำหนดให้มีการจัดงานวันสุนทรภู่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๒๖ มิถุนายนของทุกปีเป็น วันสุนทรภู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น