วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พูดจาภาษาไหน โดย แพร จารุ

         สถานการณ์ภาษาไทยในทุกวันนี้ได้รับความห่วงใย ว่ามีภาษาแอ๊บแบ๊ว ภาษาน่ารัก ที่มีผู้ห่วงใยกันมาก ระดับคนที่มีบทบาท ในด้านภาษาศาสตร์ออกมาพูดตักเตือน ถึงขั้นกล่าวประณาม แต่โดยส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เห็นว่าจะต้องตื่นเต้นขนาดนั้น ภาษาที่ผ่านมาและผ่านไป   เป็นกิจกรรมสนุก ๆ มากกว่า  ไม่นานก็จะมีคำใหม่ ๆ เข้ามา เป็นเรื่องที่เข้าใจได้   หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะส่ายหัว  ทำไมคนเขียนหนังสือซึ่งเป็นคนทำงานด้านภาษาไทยโดยตรงจึงกล่าวเช่นนี้  โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่า เป็นการปฏิเสธกัน สังคมที่อยู่ในการปฏิเสธกันมันจะมีความสุขได้อย่างไร เหมือนผู้ใหญ่คอยจับผิดเด็ก หรือคอยประมาณคนที่คิดตรงกันข้ามกับตัวเองหรือพรรคพวก อันนี้ถือว่า เป็นสังคมที่อันตรายแล้ว  เมื่อสัปดาห์   ที่ผ่านมา มีเวทีสัมมนาที่น่าสนใจ เพราะเขาพูดกันเรื่องภาษา จึงควรแก่การหยุดฟัง
         เขาพูดกันถึง คือการเรียนที่ใช้เฉพาะภาษาเดียว ใช้ภาษาราชการเป็นสื่อการเรียนการสอน ทำให้ภาษาท้องถิ่นหมดความหมายและคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักภาษาท้องถิ่น  ฉันถามชนเผ่าที่อยู่ใกล้ ๆ ว่าเขาคิดเห็นอย่างไรในประเด็นนี้ ส่วนใหญ่พวกเขาจะตอบว่า ครูสอนภาษากลางก็ได้ แต่เด็กพูดด้วยกันเขาก็พูดภาษาถิ่นอยู่ดีแหละ แต่บางทีครูก็ไม่ให้พูด
        มีเรื่องตลกว่า ครูบอกว่าให้พูดภาษากลางให้ชัด ๆ ต่อไปใครเขาจะไม่ล้อเรา  ต่อไปทำงานในเมืองต้องใช้ภาษากลาง อันนี้เข้ากับสถานการณ์มาก คือมุ่งหวังว่า ทุกคนต้องมุ่งหาโอกาส หรือเป้าหมายในการทำงานนอกชุมชน หรือเข้ามาอยู่ในเมือง  การศึกษาที่ไล่คนออกจากถิ่น คนในเมืองแบบเรา ๆ ก็เหมือนกัน เรียนเพื่อเข้าสู่ระบบการทำงานนอกบ้านหรือ สู่โรงงาน
        ฉันคุยกับน้องชนเผ่าคนหนึ่งว่าเป็นปัญหาเดียวกันทั้งประเทศ อย่าน้อยใจเลย และเราก็คิดว่า การเรียนการสอนในระบบนั้น ใช้ภาษากลางก็ได้ แต่ไม่ถึงกับจะต้องบังคับหรือชักจูงว่า อยู่ด้วยกันกับเพื่อนเขาควรจะพูดภาษาถิ่นหรือของเขา และไม่ให้รู้สึกว่า การพูดภาษาถิ่นเป็นเรื่องน่าอาย หรือเป็นเรื่องของปมด้อย
ชนเผ่าพื้นเมืองอย่างมอแกน มอแกรน เขาก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน และออกจะรุนแรงด้วย   ครูไม่ยอมให้เด็กพูดภาษาเขาและพวกผู้ใหญ่ ๆ ก็ไม่พอใจด้วย    อย่าว่าแต่ชนเผ่าเลย ตัวเราเองเป็นคนใต้ก็ถูกล้อเลียนอยู่เสมอ มีความกดดันอยู่บ้างเป็นระยะ และมีตอบโต้ มีความพยายามที่จะพูดให้ชัด มีการฝึก แต่ต่อมาเมื่อโตขึ้น เราพบว่า เราจะฝึกไปทำไม เราแค่สื่อสารกันรู้เรื่องก็พอ
        ภาษาถิ่นถูกทำให้ไม่มีเกียรติมาระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นระยะที่ยาวมาก และคงเป็นต่อไป เรื่องนี้เข้าใจได้ และเป็นเรื่องใกล้ตัว มีการกล่าวกันว่า เพราะคนที่เข้ามารับผิดชอบในด้านนโยบายการศึกษาไม่ได้เข้าใจพื้นฐานการใช้ชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม เช่น เวลาการเรียนที่จัดให้ไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนชนเผ่าที่ยังประกอบอาชีพ การเกษตร
        ต่อกรณีนี้ ผู้เขียนคิดว่า ไม่ใช่แค่ชนเผ่าหรอก ใคร ๆ ก็โดนกัน หากเราดูการศึกษาสมัยก่อน โรงเรียนจะหยุดวันพระเพื่อให้เด็ก ๆ ไปทำบุญกับพ่อแม่ หรือไม่ทำบุญก็ตระหนักว่าวันนี้เป็นวันสำคัญทางศาสนา เด็ก ๆ เป็นมุสลิม เขาก็ต้องมีช่วงถือศีลอด มีช่วงละหมาด หรือเรียนศาสนา แต่ในขณะที่ผู้เขียนอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้ พบว่า ระบบในโรงเรียนไม่ได้สอนให้คนให้เกียรติในความต่าง แต่กลับให้แตกแยกแบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นประสบการณ์ตรงที่เราพบมาตั้งแต่วัยเด็ก
        พ่อหลวง จอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอญอ กล่าวว่า ระบบการศึกษาของไทย ทำให้ผู้เรียนมีความคาดหวังสูงเกินไป แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกัน รวมถึงระบบการศึกษาที่ผลิตคนสู่สังคมที่ใช้เรื่องอาชีพ การทำเงิน หรืออาชีพที่มีหน้ามีตา เป็นตัววัดว่า คนไหนดีไม่ดี   เป็นบทสรุปที่ น่าสนใจยิ่ง ตัวชี้วัดความดี และอาจจะพ่วงความสุขมวลรวมในการเป็นคนดี  (เก็บตก เสวนาเนื่องในงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "การพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์" โดยมีนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และพี่น้องชนเผ่าเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเสวนา ที่สถาบันวิจัยสังคม ม..)  ( http://www.prachatai.com/column-archives/node/2794)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น